เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย การเปลี่ยนแปลงกะทันหันนี้อาจทำให้ร่างกายปรับไม่ทัน คุณแม่อาจเผชิญกับ โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ได้
โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องพึงระวังไว้เสมอ หากได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ไปตามนัดแพทย์ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อคุณแม่และทารกในท้องได้ โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
1. ท้องนอกมดลูก | โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือการที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่ ซึ่งถือเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เด็กจะโตไปได้สักระยะหนึ่งก็มักจะเสียชีวิตในครรภ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกคือเคยมีประวัติปีกมดลูกอักเสบ หรือทำแท้งบ่อยๆ
2. ครรภ์เป็นพิษ | โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
คุณแม่จะมีอาการตัวบวม ปัสสาวะน้อย ตรวจเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นชัก ความดันสูง คลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการครรภ์เป็นพิษรุนแรงแพทย์จะทำการผ่าตัดคลอดทันทีเพื่อช่วยชีวิตแม่ แต่ทารกในครรภ์อาจจะเสียชีวิตได้

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
บางคนเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง แต่บางคนท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน เกิดจากการที่เด็กในท้องซึ่งอยู่ในมดลูก สามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่จะไปยับยั้งการทำงานของอินซูลิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด หากแม่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจมีอาการชัก จนเกิดการแท้งบุตรได้

4. ไทรอยด์เป็นพิษ
ไทรอยด์เป็นพิษไม่ได้เป็นโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ แต่แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดี ทำให้ลูกมีปัญหาตัวเล็ก ไม่แข็งแรง หากแม่มีอาการรุนแรงก็อาจทำให้แท้งได้

5. ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
คุณแม่ท้องโตมดลูกจะมีการขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้ไม่เต็มที่ มีปัสสาวะค้างไว้นาน อาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่ากลั้นปัสสาวะบ่อยๆ และต้องดื่มน้ำมากๆเพื่อให้มีการขับปัสสาวะออกมา

6. ตกเลือดหลังคลอด
หลังจากคลอดลูก มดลูกจะมีการบีบตัว ทำให้มีเลือดไหลออกมา ปกติแล้วคุณแม่จะเสียเลือดประมาณ 200-300 ซีซี แต่หากมีการเสียเลือดมากกว่าครึ่งลิตร หรือมากกว่า 500 ซีซี หรือที่เรียกว่าอาการตกเลือด อาจทำให้คุณแม่ช็อกและเสียชีวิตได้

7. ตับผิดปกติ
ตับผิดปกติเกิดจากการที่มีน้ำดีมากเกินไปและเป็นพิษ หรือน้ำดีเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งอันตรายอย่างมาก คุณแม่จะมีอาการคันที่ฝ่ามือและเท้า หรืออาจลามไปทั่วร่างกาย ปัสสาวะมีสีเข้ม และอาจมีอุจจาระเป็นสีเขียว หากตั้งครรภ์ได้ 36-38 สัปดาห์ แพทย์อาจจะทำการกระตุ้นให้คลอดเร็วขึ้น เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์
8. โรคธาลัสซีเมีย
เป็นโรคที่สามารถติดต่อทางพันธุกรรมจากแม่ไปสู่ลูกได้ ทางที่ดีก่อนการตั้งครรภ์คุณแม่ควรตรวจหาโรคนี้ให้ละเอียดก่อน โรคธาลัสซีเมีย หรือที่เรียกว่าโรคเลือดจาง เป็นความผิดปกติที่เกิดจากเม็ดเลือด อาการส่วนใหญ่มักจะตาเหลือง ผิวซีด ตับและม้ามโต แพทย์จะทำการวินิจฉัย หากมีอาการรุนแรงมากจะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์

9. ภาวะแท้งบุตร
เป็นความจำเป็นที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อน 20-28 สัปดาห์ เด็กไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะตัวเล็กเกินไป ส่งผลให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร สาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งลูก คุณแม่อาจมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเลือด โรคความดันโลหิตสูง หรืออาจเกิดจากความเครียด ทำงานหนัก

10. โรคซึมเศร้า
ปกติแล้วคนท้องจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน แต่หากคุณแม่อารมณ์แปรปรวนรุนแรงขึ้น อาจจะก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากคนท้องอาจเกิดอาการเครียด คิดมาก หรือกังวลในเรื่องต่างๆ คนในครอบครัวควรดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
อ่านบทความเพิ่มเติม
https://notjustaworkingmom.com/คุณแม่มือใหม่/
เครดิตภาพ